Dekdee.com

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรไทย




 สมุนไพร หมายถึง “พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา” ส่วน ยาสมุนไพร หมายถึง “ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือ แปรสภาพ” ส่วนการนำมาใช้ อาจดัดแปลงรูปลักษณะของสมุนไพรให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เช่น นำมาหั่นให้มีขนาดเล็กลง หรือ นำมาบดเป็นผงเป็นต้นมีแต่พืชเพียงอย่างเดียวหามิได้เพราะยังมีสัตว์และแร่ ธาตุอื่นๆอีกสมุนไพร ที่เป็นสัตว์ได้แก่ เขา หนัง กระดูก ดี หรือเป็นสัตว์ทั้งตัวก็มี เช่น ตุ๊กแกไส้เดือน ม้าน้ำ ฯลฯ "พืชสมุนไพร" นั้นตั้งแต่โบราณก็ทราบกันดีว่ามีคุณค่าทางยามากมายซึ่ง เชื่อกันอีกด้วยว่า ต้นพืชต่างๆ ก็เป็นพืชที่มีสารที่เป็นตัวยาด้วยกันทั้งสิ้นเพียงแต่ว่าพืชชนิดไหนจะมีคุณ ค่าทางยามากน้อยกว่ากันเท่านั้น "พืชสมุนไพร" หรือวัตถุธาตุนี้ หรือตัวยาสมุนไพรนี้ แบ่งออกเป็น 5 ประการ
1. รูป ได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ กระพี้ไม้ รากไม้ เมล็ด
2. สี มองแล้วเห็นว่าเป็นสีเขียวใบไม้ สีเหลือง สีแดง สีส้ม สีม่วง สีน้ำตาล สีดำ
3. กลิ่น ให้รู้ว่ามรกลิ่น หอม เหม็น หรือกลิ่นอย่างไร
4. รส ให้รู้ว่ามีรสอย่างไร รสจืด รสฝาด รสขม รสเค็ม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเย็น
5. ชื่อ ต้องรู้ว่ามีชื่ออะไรในพืชสมุนไพรนั้นๆ ให้รู้ว่า ขิงเป็นอย่างไร ข่า เป็นอย่างไร ใบขี้เหล็กเป็นอย่างไร
ดอกมะขามเป็นอย่างไร ผลมะเกลือเป็นอย่างไร
สมุนไพรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆอีก เช่นนำมาบริโภคเป็นอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่ม สีผสมอาหาร และสีย้อม ตลอดจนใช้ทำเครื่องสำอางอีกด้วย การใช้สมุนไพรเป็นยาบำบัดโรคนั้น อาจใช้ในรูปยาสมุนไพรเดี่ยวๆ หรือใช้ในรูปตำรับยาสมุนไพร
ปัจจุบันตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้รักษาโรคได้มีทั้งหมด 27 ขนาน เช่น - ยาจันทน์ลีลา ใช้แก้ไข้ แก้ตัวร้อน
- ยามหานิลแท่งทอง ใช้แก้ไข้ แก้หัด อีสุกอีใส
- ยาหอมเทพพิจิตร แก้ลม บำรุงหัวใจ
- ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย
- ยาประสะมะแว้ง แก้ไอ ขับเสมหะ
- ยาตรีหอม แก้ท้องผูกในเด็กระบายพิษไข้

สำหรับสมุนไพรที่นิยมใช้เดี่ยวๆ รักษาอาการของโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่
- สมุนไพรแก้ไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
- สมุนไพรแก้ท้องเสีย กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
- สมุนไพรแก้ไอ มะแว้ง ขิง มะนาว
- สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
- สมุนไพรช่วยให้นอนหลับ ขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่
- สมุนไพรแก้เชื้อรา กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
- สมุนไพรแก้เริม เสลดพังพอนตัวเมีย และตัวผู้

1. ราก
2. ลำต้น
3. ใบ
4. ดอก
5. ผล
"พืชสมุนไพร" เหล่านี้มีลักษณะลำต้น ยอด ใบ ดอก ที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ แต่ส่วนต่างๆ ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เช่นรากก็ทำหน้าที่ดูดอาหาร มาเลี้ยงลำต้นกิ่งก้านต่างๆและใบกับส่วนต่างๆนั่นเองใบก็ทำหน้าที่ปรุงอาหาร ดูดออกซิเจน คายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดอก ผล เมล็ด ก็ทำหน้าที่สืบพันธุ์กันต่อไป เพื่อทำให้พืชพันธุ์นี้แพร่กระจายออกไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

1. ราก รากของพืชมีมากมายหลายชนิดเอามาเป็นยาสมุนไพรได้อย่างดี เช่นกระชายขมิ้นชัน ขิง ข่า เร่ว ขมิ้นอ้อย เป็นต้น รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 รากแก้ว ต้นพืชมากมายหลายชนิดมีรากแก้วอยู่นับ ว่าเป็นรากที่สำคัญมากงอกออกจาลำต้นส่วนปลายรูปร่างยาวใหญ่ เป็นรูปกรวยด้านข้างของรากแก้วจะแตกแยกออกเป็นรากเล็กรากน้อยและ รากฝอยออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการดูดซึมอาหารในดินไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นพืชที่มีรากแก้วได้แก่ ต้นขี้เหล็ก ต้นคูน เป็นต้น
1.2 รากฝอย รากฝอยเป็นส่วนที่งอกมาจากลำต้นของพืชที่ส่วนปลายงอกออกมาเป็น รากฝอยจำนวนมากลักษณะรากจะกลมยาวมีขนาดเท่าๆกันต้นพืชที่มีใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากฝอย เช่น หญ้าคา ตะไคร้ เป็นต้น
2. ลำต้น นับว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญของต้นพืชทั้งหงายที่มีอยู่สามารถค้ำยันเอาไว้ ได้ไม่ให้โค่นล้มลงโดยปกติแล้วลำต้นจะอยู่ บนดินแต่บางส่วนจะอยู่ใต้ดินพอสมควร รูปร่างของลำต้นนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ตา ข้อ ปล้อง บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่งก้าน ใบดอกเกิดขึ้นอีกด้วยซึ่งจะทำให้พืช มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปชนิดของลำต้นพืช แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้เป็น
1. ประเภทไม้ยืนต้น
2. ประเภทไม้พุ่ม
3. ประเภทหญ้า
4. ประเภทไม้เลื้อย
3. ใบ ใบเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของต้นพืชทั่วไป มีหน้าที่ทำการสังเคราะห์แสง ผลิตอาหารและ เป็นส่วนที่แลกเปลี่ยนน้ำ และอากาศให้ต้นพืชใบเกิดจากการงอกของกิ่งและตาใบไม้โดยทั่วไปจะมีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารที่มีชื่อว่า"คอลโรฟิลล์"อยู่ในใบของพืช)ใบของพืชหลาย ชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดีมาก รูปร่างและลักษณะของใบนั้น ใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบรวม 3 ส่วนด้วยกันคือ
1. ตัวใบ
2. ก้านใบ
3. หูใบ
ชนิดของใบ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดใบเลี้ยงเดี่ยว หมายถึงก้านใบอันหนึ่ง มีเพียงใบเดียว เช่น กานพลู ขลู่ ยอ กระวาน
2. ชนิดใบประกอบ หมายถึงตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปที่เกิดขึ้นก้านใบอันเดียว มีมะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก มะขาม เป็นต้น
4. ดอก ส่วนจองดอกเป็นส่วนที่สำคัญของพืชเพื่อเป็นการแพร่พันธุ์ของพืชเป็นลักษณะ เด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิด ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้และลักษณะที่แตกต่าง กันนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของ ต้นไม้รูปร่างลักษณะของดอก
ดอกจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วนคือ
1. ก้านดอก
2. กลีบรอง
3. กลีบดอก
4. เกสรตัวผู้
5. เกสรตัวเมีย
5. ผล ผลคือส่วนหนึ่งของพืชที่เกิดจากการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียในดอกเดียว กันหรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทและสายพันธุ์รูปร่างลักษณะของผล มีหลายอย่าง ตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งตามลักษณะของการเกิดได้รวม 3 แบบ
1. ผลเดี่ยว หมายถึง ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียวกัน
2. ผลกลุ่ม หมายถึง ผลที่เกิดจากปลายช่อของรังไข่ในดอกเดียวกัน เช่น น้อยหน่า
3. ผลรวม หมายถึง ผลที่เกิดมาจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด
มีการแบ่งผลออกเป็น 3 ลักษณะคือ
1. ผลเนื้อ
2. ผลแห้งชนิดแตก
3. ผลแห้งชนิดไม่แตก

สมุนไพร วิธีการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยา
"พืชสมุนไพร" มีมากมาย บางทีก็อาจจะเอาเปลือกของลำต้นมาใช้ประโยชน์ในการทำเป็นยา หรือบางชนิดก็เอาดอกมาทำเป็นยา แต่บางอย่างอาจจะต้องใช้ใบก็ได้ หรืออาจจะเอาส่วนของรากมาทำเป็นยาก็มี ด้วยเหตุนี้เองการเลือกส่วนที่จะเอามาใช้ประโยชน์จึงมีความสำคัญมากเช่น เดียวกัน
จะเก็บอย่างไรจึงจะถูกวิธีหรือทำให้คุณค่าทางยามากที่สุดไม่เสียหาย สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเห็นจะได้แก่ "ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บ "พืชสมุนไพรเอามาเป็นยา" นั้นเอง
การเก็บส่วนของพืชสมุนไพรเอามาทำเป็นยานั้น ถ้าเก็บในระยะเวลาที่ไม่เหมาะก็มีผลต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรคของสมุนไพร ได้ นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องช่วงเวลาในการเก็บยาเป็นสำคัญแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงว่าการเก็บยานั้นถูกต้องหรือไม่ ส่วนไหนของพืชใช้เป็นยา ดินที่ปลูกพืชสมุนไพร อากาศ เป็นอย่างไร การเลือกเก็บส่วนที่เป็นยาอย่างถูกวิธีการนั้น จะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของยาที่จะนำมารักษาโรค หากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในสมุนไพรนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้ยาที่ได้มานั้นไม่เกิดผลดีในการบำบัดรักษาโรคได้เท่าที่ควร
หลักการโดยทั่วไปในการเก็บส่วนของพืชสมุนไพร แบ่งออกได้ดังนี้
ประเภทเก็บรากหรือหัว
สมควรเก็บในช่วงเวลาที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบ ดอก ร่วงหมดแล้ว หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน เพราะเหตุว่าในช่วงเวลานี้รากและหัวมีการสะสมปริมาณตัวยาเอาไว้ค่อนข้างสูง วิธีการเก็บก็จะต้องใช้วิธีขุดด้วยความระมัดระวังให้มาก อย่าให้รากหรือหัวเกิดการเสียหาย แตกช้ำ หักขาดขึ้นได้ รากหรือหัวของพืชสมุนไพรก็มี ข่า กรชาย กระทือ ขิง เป็นต้น
ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น
ควรจะเก็บใบที่เจริญเติบโตมากที่สุด หรือพืชบางอย่างอาจระบุช่วงเวลาเก็บอย่างชัดเจน เก็บใบอ่อนหรือไม่แก่เกินไป เก็บช่วงดอกหรือบาน หรือช่วงเวลาที่ดอกบาน เป็นต้น การกำหนดช่วงเวลาที่เก็บใบ เพราะช่วงเวลานั้นในใบมีตัวยามากที่สุด วิธีการเก็บก็ใช้วิธีเด็ด ตัวอย่างเช่น ใบกระเพรา ใบฝรั่ง ใบฟ้าทะลาย เป็นต้น
ประเภทเปลือกต้นหรือเปลือกราก
เปลือกต้นโดยมากเก็บช่วงฤดูร้อนต่อกับช่วงฤดูฝน ปริมาณยาในพืชสมุนไพรมีสูง และลอกออกได้ง่าย สะดวก ในการลอกเปลือกต้นนั้น อย่าลอกเปลือกออกทั้งรอบต้น เพราจะกระทบกระเทือนในการส่งลำเลียงอาหารของพืช จะทำให้ตายได้ ทางที่ดีควรลอกเปลือกกิ่งหรือส่วนที่เป็นแขนงย่อย ไม่ควรลอกออกจากล้าต้นใหญ่ของต้นไม้ หรือจะใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ ส่วนเปลือกราก เก็บในช่วงฤดูฝนเหมาะมากที่สุด เนื่องจากการลอกเปลือกรากเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช
ประเภทดอก
โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม เช่น กานพลู เป็นต้น
ประเภทผลและเมล็ด
พืชสมุนไพรบางอย่าง อาจจะเก็บในช่วงที่ผลยังไม่สมบูรณ์หรือยังไม่สุกก็มี เช่น ฝรั่งเก็บเอาผลอ่อนมาเป็นยาแก้ท้องร่วง แต่โดยทั่วไปมักเก็บเมื่อผลแก่เต็มที่แล้ว ตัวอย่างเช่น มะแว้ต้น มะแว้งเครือ ดีปลี เมล็ดฟักทอง เมล็ดชมเห็ดไทย เมล็ดสะแก เป็นต้น
คุณภาพของสมุนไพรที่จะใช้รักษาโรคได้ดีหรือไม่นั้น สำคัญอยู่ที่ช่วงเวลาการเก็บสมุนไพรและวิธีการเก็บ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะต้องคำนึงถึงอีกอย่างก็คือ พื้นดินที่ปลูกพืชสมุนไพร เช่น ลำโพง ควรปลูกในพื้นดินที่เป็นด่าง จะมีปริมาณตัวยาสูง สะระแหน่ หากปลูกในที่ดินทราย ปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูง และยังมีปัญหาทางด้านสภาพสิ่งแวดล้อมในการเจริญเติบโต และภูมิอากาศเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีผลต่อพืชสมุนไพรด้วยกันทั้งสิ้น จึงควรพิจารณาให้ดีในเรื่องนี้ด้วย
เก็บพืชสมุนไพรให้ถูกต้อง เหมาะสม ในช่วงเวลาที่สมควรเก็บ เก็บแล้วจะได้พืชสมุนไพรที่มีปริมาณของตัวยาสูง มีคุณค่า มีสรรพคุณทางยาดีมาก ดีกว่าเก็บในช่วงที่ไม่เหมาะสม

:: การสับยา ::
เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งมาสับให้มีขนาดเล็กลง ให้พอเหมาะแก่การใช้ปรุงเป็นยา การสับยายังช่วยทำให้ยาสดที่เก็บมาผึ่งแห้งได้เร็ว ไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา ยาที่มีปริมาณน้ำมากๆ ควรสับให้เป็นแผ่นบางๆ เพื่อให้ยาแห้งทันก่อนที่จะเกิดเชื้อรา
:: อุปกรณ์ที่ใช้ ::
1. มีด และ เขียง สำหรับสับยา
2. ถาดขนาดใหญ่ สำหรับใส่ยาที่สับแล้ว
3. กระสอบป่านหรือผ้าใบ สำหรับปูรองรับยา
4. ผ้านวม หรือ แผ่นยาง สำหรับรองเขียงกันเสียงดังเกินไป
:: ขั้นตอนการสับยา ::
1. ปูกระสอบป่านหรือผ้าใบบนโต๊ะสับยา
2. วางถาดลงบนกระสอบป่านหรือผ้าใบ
3. วางเขียงลงในถาด โดยใช้ผ้านวมหรือแผ่นยางรองใต้เขียง
4. นำชิ้นยาสมุนไพรมาสับตามขนาดที่ต้องการ ระวังอย่าให้ยากระเด็นออกนอกถาด หรือนอกแนวผ้าใบ
:: การเก็บยา ::
1. นำยาที่สับแล้วไปใส่ลงตามลิ้นชักที่มีชื่อยานั้นๆ หรือนำไปอบให้แห้ง
2. นำยาที่สับได้ใส่ปีบหรือถุงสำรองยา เขียนชื่อ และวันที่ติดให้เรียบร้อย ล้าง เช็ดอุปกรณ์การสับยาให้เรียบร้อย ผึ่งให้แห้ง แล้วนำเก็บเข้าที่

:: การอบยา ::
เป็นการทำให้ยาแห้งสนิท ป้องกันเชื้อรา และฆ่าเชื้อโรค ตัวยาที่จะนำมาอบ ควรเป็นตัวยาที่ไม่ระเหย หรือเปลี่ยนสภาพเมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร เมลทอล ยางไม้ เป็นต้น ยาที่จะนำมาอบ อาจเป็นยาเดี่ยวๆ หรือยาตำรับก็ได้
:: ขั้นตอนการอบยา ::
1. นำตัวยาที่จะอบใส่ลงในถาดอบยา อย่าให้อัดทับกันแน่นหรือหนามากเกินไป
2. เขียนชื่อยาหรือตัวยา, น้ำหนักยา, วัน/เดือน/ปี, หมายเลขถาดยา ติดข้างถาด
3. นำถาดยาเข้าตู้อบเรียงตามลำดับเลขที่
4. บันทึกรายชื่อยาขนานต่างๆ หรือ ตัวยาที่นำเข้าตู้อบ


:: การบดยา ::
ยาที่จะนำมาบดจะต้องย่อยเป็นชิ้นขนาดเล็กเสียก่อน
:: ขั้นตอนการบดยา ::
1. นำยาที่ย่อยและอบแล้วใส่ลงไปในเครื่อง 1/4 ของความจุของเครื่อง เช่น เครื่องบดได้ 2 ก.ก. ก็ใส่ตัวยาลงไป 500 กรัม เป็นต้น
2. บดยาครั้งที่ 1 ใช้เวลานาน 1/2 ชั่วโมง หยุดเครื่อง
3. ใส่ตัวยาที่เหลือลงไปให้เต็มตามขนาดจุของเครื่อง
4. เขียนชื่อยา น้ำหนักยาก่อนบด เวลาเริ่มบด ปิดไว้บนฝาเครื่องบดยา
5. เดินเครื่องบดยานาน 3 ชั่วโมง หยุดเครื่อง
6. เมื่อบดยาเสร็จแล้ว ตักยาออกใส่ภาชนะเตรียมร่อนยาต่อไป
7. ยาที่ร่อนแล้วเอากากมาบดอีก เป็นครั้งที่ 2 บดนาน 3 ชั่วโมง
8. เมื่อบดยาเสร็จแล้ว เช็ดทำความสะอาดเครื่องบดยา ด้วยผ้าชุบน้ำให้ทั่ว แล้วเช็ดด้วยผ้า เป่าลมให้แห้งและไล่ฝุ่นผงตามซอกต่างๆ ปิดฝาเครื่อง


:: การร่อนยา ::
เป็นการนำเอายาที่บดแล้วมาร่อนด้วยตะแกรงหรือแร่ง เอาเฉพาะยาส่วนที่ละเอียดตามที่ต้องการ การร่อนยา อาจใช้เครื่อง หรือร่อนยาด้วยมือก็ได้ ตามแต่ปริมาณของงานที่ทำ ตะแกรงร่อนยาที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ขนาด คือ
1. เบอร์ 100 จะได้ผงยาที่ละเอียด
2. เบอร์ 80 ได้ผงยาขนาดปานกลาง
3. เบอร์ 60 ได้ผงยาหยาบ
ที่ใช้ประจำคือ เบอร์ 100 และ เบอร์ 80
:: ขั้นตอนการร่อนยา ::
1. นำยาที่บดแล้วมาใส่ลงในตะแกรงร่อนยาตามขนาดที่ต้องการ
2. ชั่งเนื้อยาที่ร่อนได้ และกากยาที่เหลือ แยกใส่ถุงมัดให้แน่น
3. เขียนชื่อยา น้ำหนัก วัน/เดือน/ปี และชื่อผู้ร่อนยา ปิดไว้ที่ข้างถุง
:: การดูแลรักษาตะแกรงร่อนยา ::
1. ใช้แปรงปัดทำความสะอาดตามตะแกรงและขอบตะแกรง
2. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตะแกรงและขอบตะแกรง แล้วเช็ดหรือเป่าลมให้แห้งสนิท
3. ใช้เกรียงโป๊วขูดตะแกรงเบาๆ และใช้แหนบถอนเอาเสี้ยนยาออกให้หมด
4. เก็บตะแกรงร่อนยาเข้าตู้
:: การดูแลรักษาเครื่องร่อนยา ::
ปัดฝุ่นผง เช็ดเครื่องร่อนยาด้วยผ้าชุบน้ำ เป่าลมให้แห้งสนิท ปิดฝาเครื่อง


:: การทำยาลูกกลอน ::
ยาลูกกลอนเป็นรูปแบบของการทำยาแผนโบราณ มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ทำมาจากผงยาสมุนไพรผสมกับกระสายยา นิยมใช้น้ำผึ้งเป็นกระสายยาปั้นลูกกลอน เพราะน้ำผึ้งทำให้การจับเม็ดได้ดี แตกตัวช้า ออกฤทธิ์ได้นาน ช่วยบำรุงร่างกายผู้ป่วย และช่วยให้รสยาดีขึ้น นอกจากใช้น้ำผึ้งแล้ว ยังสามารถใช้สารยึดเหนี่ยวอื่นๆ ได้
:: การทำยาลูกกลอนน้ำผึ้ง ::
1. การเคี่ยวน้ำผึ้ง เพื่อไล่น้ำออกจากน้ำผึ้ง ทำให้เหนียว เม็ดยาจับกันแน่น
1.1 ตวงน้ำผึ้งหนักเท่ากับน้ำหนักของยาผงที่จะใช้ทำลูกกลอนโดยประมาณ หากยาผงประกอบด้วยเกลือ ยาดำ มหาหิงค์ ก็ใช้น้ำผึ้งน้อยลงไป ใส่ลงในหม้อ
1.2 นำหม้อน้ำผึ้งไปตั้งไฟเคี่ยวด้วยไฟแรง คนไปเรื่อยๆ จนฟองเดือดเล็กลง ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ทดลองนำน้ำผึ้งมาหยดลงในน้ำ ถ้าน้ำผึ้งรวมเป็นก้อนแข็งจึงจะใช้ได้ ถ้ายังเหนียวไม่แข็ง ก็เคี่ยวต่อไป ทดลองทำใหม่ จนได้ที่ดี
1.3 เติมน้ำสะอาดปริมาณเท่ากับน้ำผึ้งในตอนแรกลงไปเคี่ยวต่อ แล้วลองหยดน้ำผึ้งลงในน้ำ ถ้าน้ำผึ้งจับตัวแข็งเป็นก้อนก็ยกลงจากเตา
1.4 กรองน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้วด้วยผ้ากรอง ในขณะที่ยังร้อนอยู่ และคนต่อไปจนกว่าน้ำผึ้งจะเย็น เป็นอันเสร็จการเคี่ยวน้ำผึ้ง
2. การผสมน้ำผึ้งกับผงยา
2.1 ชั่งผงยาที่จะทำเม็ดเทลงในกาละมังที่แห้งสะอาด
2.2 ตักน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้ว เทราดลงบนผงยาทีละทัพพี คลุกเคล้าให้เข้ากับน้ำผึ้งไปเรื่อยๆ จนเนื้อยาเข้ากันดี ทดลองปั้นเม็ดด้วยมือ หากได้ที่ดี ยาจะไม่ติดมือ บีบเม็ดยาดูจะไม่แตกร่วน การคลุกเคล้ายาทำด้วยมือ ควรสวมถุงมือ ถ้ามือไม่แห้ง จะทำให้ยาเกิดเชื้อราได้ง่าย
:: การปั้นลูกกลอน ::
1. การทำลูกกลอนด้วยเครื่องปั้นลูกกลอน
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. เครื่องปั้นลูกกลอน
2. เครื่องรีดเส้น
3. ถาดใส่เส้นยาและเม็ดยาสำเร็จ
4. แปรงทองเหลือง สำหรับขจัดยาที่ติดเครื่องรีดเส้น
5. กาต้มน้ำขนาดใหญ่ สำหรับต้มน้ำล้างเครื่องทำยา
การเตรียมเครื่องมือ
1. ทำความสะอาดเครื่องปั้นลูกกลอนและเครื่องรีดเส้นยา โดยใช้น้ำร้อนเดือดเทราดลงในเครื่อง เอากาละมังรองน้ำทิ้ง เช็ดให้แห้ง แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์
2. เตรียมถาดมาวางเพื่อรองรับเส้นยา และ ลูกกลอน
การผลิต
1. นำยาที่ผสมกับน้ำผึ้งแล้ว ใส่ลงในเครื่องรีดเส้น 1-2 ครั้ง เพื่อให้เนื้อยาแน่นและเรียบ ใช้มีดตัดเส้นยาที่รีดออกจากเครื่องให้มีขนาดยาวพอดีกับความกว้างของเครื่อง ทำเม็ดลูกกลอน
2. เปิดเครื่องทำลูกกลอน นำเส้นยาไปวางขวางบนเครื่องทำเม็ด เส้นยาจะถูกตัดออกกลิ้งให้เป็นเม็ดกลมๆ ตกลงไปบนถาดรับเม็ดยา
3. คัดเม็ดยาที่ไม่ได้ขนาดออก นำเม็ดยาที่ได้ไปแต่งเม็ดในถังเคลือบเม็ดยา เปิดเครื่องหมุนถังเคลือบเม็ดยา จนได้เม็ดยากลมเรียบดี
4. นำเม็ดยาใส่ถาดอย่าให้ทับกันหนามากเกินไป นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
5. บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
2. การทำลูกกลอนด้วยรางกลิ้งยา
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. รางกลิ้งยาและฝาประกบ
2. ถาดใส่เส้นยาและเม็ดยา
3. น้ำมันพืชหรือน้ำมันที่ไม่มีกลิ่น
4. ชามขนาดกลาง 2 ใบ
5. ผ้าสะอาด
6. กาต้มน้ำขนาดใหญ่
7. โต๊ะวางรางกลิ้งยา
การเตรียมเครื่องมือ
1. ล้างทำความสะอาดรางกลิ้งยาและฝาประกบ โดยราดน้ำร้อนแล้วเช็ดให้แห้ง และเช็ดด้วยแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้กลิ้งยา
2. วางรางกลิ้งยาบนโต๊ะ จัดวางถาดรับเม็ดยาท้ายรางกลิ้งยา
3. เทน้ำสุกใส่ชาม ครึ่งชาม และเทน้ำมันพืชลงไปอีก 1/4 ของชาม นำผ้าสะอาดผืนเล็กๆ ชุบน้ำสุก แล้วบิดให้หมาด นำมาแช่ลงในชามน้ำผสมน้ำมัน เพื่อไว้เช็ดรางยาเมื่อยาเริ่มจะติดราง
:: การกลิ้งยาลูกกลอน ::
1. นำยาที่ผสมกับน้ำผึ้ง มารีดเป็นเส้น หรือคลึงด้วยมือให้ได้ขนาดเท่ากับร่องของรางกลิ้งยา ตัดขนาดยาวเท่าความกว้างของรางกลิ้งยา
2. นำเส้นยามาวางขวางบนรางกลิ้งยา นำฝาประกบมาวางทับลงบนเส้นยา เลื่อนฝาประกบไปมาค่อยๆ ลงน้ำหนักกดฝาประกบลงไป จนฝาประกบและรางกลิ้งยาชิดกัน แล้วกลิ้งไปมาอีก 3-4 ครั้งจนยาเป็นเม็ดดีแล้ว จึงดันฝาประกบไปข้างหน้า เพื่อทำให้เม็ดยาตกลงไปในถาดรับเม็ดยา
3. เมื่อกลิ้งยาไปหลายๆ ครั้งจนยาเริ่มจะติดราง ผิวเม็ดยาเริ่มหยาบ ให้เอาผ้าชุบน้ำผสมน้ำมัน บิดพอหมาดๆ เช็ดรางกลิ้งยา ไม่ควรถูไปมาสวนทางกัน
4. เมื่อได้เม็ดยาตามต้องการ นำเม็ดยาใส่ถาด นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
5. บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น
:: สาเหตุที่ทำให้ยาไม่เป็นเม็ดหรือได้เม็ดไม่สวย ::

1. ใส่น้ำผึ้งน้อยเกินไป ทำให้เส้นยาแห้งปละแข็ง
2. ใส่น้ำผึ้งมากเกินไป ทำให้ยานิ่มไม่เป็นเม็ด
3. เส้นยาเล็กกว่าร่อง ทำให้ยาไม่เต็มเม็ด หรือมีร่องกลางเม็ด
4. ใช้แรงกดฝาประกบแรงเกินไปทำให้เส้นยาแบน ไม่เป็นเม็ด
5. เช็ดรางยาเปียกโชคเกินไป ทำให้ผิวเม็ดยาเปียกหลุดติดรางยา
นอกจากจะใช้เครื่องปั้นลูกกลอนและรางกลิ้งยาแล้ว ยังสามารถปั้นเม็ดทีละเม็ดด้วยมือก็ได้ แต่ทำได้ช้าและดูไม่ค่อยสะอาด ไม่เหมาะสำหรับการทำยาทีละมากๆ ได้ขนาดไม่สม่ำเสมอ ส่วนมากนิยมใช้ปั้นยาลูกกลอนตามแบบโบราณ คือใช้น้ำผึ้งสดๆ มาผสมปั้นเม็ด ทำเก็บไว้รับประทานได้ไม่เกิน 2-3 วัน แล้วทำใหม่อีก ถ้าทำทิ้งไว้นานจะเสียและเกิดรา เหมาะสำหรับทำรับประทานเอง


:: การทำยาเม็ดพิมพ์มือ ::
:: เครื่องมือและอุปกรณ์ ::
1. เครื่องพิมพ์เม็ดยาด้วยมือ (แม่พิมพ์ทองเหลือง)
2. กระจกใส 1 x 1 ฟุต
3. ถาดใส่เม็ดยา
4. แป้งมัน
:: การเตรียมเครื่องมือ ::
ล้างแม่พิมพ์ทองเหลืองด้วยน้ำร้อน และล้างกระจกให้สะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วเช็ดด้วยแอลกอฮอล์อีกครั้งหนึ่ง ทิ้งให้แห้งสนิทก่อนนำมาพิมพ์เม็ดยา
:: วิธีทำ ::
1. กวนแป้งมันทำเป็นแป้งเปียกใสๆ ปริมาณพอเหมาะกับยาผง
2. เอายาผงใส่กาละมัง เทแป้งเปียกลงคลุกเคล้ากันทีละน้อยๆ จนเข้ากันดี
3. นำยาที่ผสมแล้ว มาแผ่ลงบนกระจก หนาตามความต้องการ
4. นำแม่พิมพ์ทองเหลืองมากดลงบนแผ่นยา
5. กดเอาเม็ดยาออกจากแม่พิมพ์ใส่ลงในถาด
6. นำเข้าเครื่องอบยาที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง จนยาแห้งสนิทดี ทิ้งไว้ให้เย็น
7. บรรจุยาใส่ขวดหรือถุงปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความชื้น


:: การตอกเม็ดยา ::
:: วิธีทำ ::
วัตถุส่วนประกอบ
1. ผงยา 2000 กรัม
2. แป้งมัน 100 กรัม
3. แป้งเปียก 10 % 150 กรัม
4. ผงทัลคัม 70 กรัม
5. แมกนีเซียม สเตียเรต 60 กรัม
:: ขั้นตอนการทำงาน ::
1. นำผงยาและแป้งมัน ในข้อ 1 และ 2 ซึ่งร่อนดีแล้ว มาผสมให้เข้ากันดี
2. นำแป้งมันตามข้อ 3 เติมน้ำ 1500 กรัม กวนเป็นแป้งเปียก 10 %
3. ผสมแป้งเปียกกับผงยาที่ผสมแป้งมันแล้ว ไปผ่านแร่งเบอร์ 14 นำแกรนูลที่ได้ไปอบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นำยามาผ่านแร่งเบอร์ 18
4. ผสมผงยาที่ได้กับทัลคัมและแมกนีเซียมสเตียเรต ตามข้อ 4 และ 5
5. นำผงยาที่ได้ไปตอกเม็ด ควบคุมน้ำหนักเม็ดยาให้ได้มาตรฐาน
6. นำเม็ดยาไปอบที่อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 4-6 ชั่วโมง
7. ทดสอบการแตกตัวของเม็ดยา ไม่ควรเกิน 30 นาที


:: การเคลือบยาเม็ดด้วยน้ำตาล ::
:: วัตถุประสงค์ของการเคลือบเม็ดยา ::
1. เพื่อกลบรส กลิ่น และสีของยา ทำให้ยาน่ารับประทานยิ่งขึ้น
2. ป้องกันไม่ให้สารสำคัญเสื่อมสลายเร็ว
3. ทำให้สะดวกในการกลืนยา
4. ควบคุมการออกฤทธิ์ของยาที่มีการระคายเคือง หรือใช้ในยาที่ต้องการให้ไปออกฤทธิ์ในส่วนลำไส้ เช่น ยาแก้ริดสีดวงทวาร เป็นต้น
:: วัสดุอุปกรณ์ ::
1. แป้งทัลคัม 2. น้ำตาลทราย 3.น้ำ 4. กัมอาคาเซีย 5. แชลแล็ค 6. แอลกอฮอล์ 7. ขี้ผึ้งคานูบา 8. ขี้ผึ้งขาว 9. คาร์บอนเตทตระคลอไรด์ 10. สีผสมอาหาร 11. เครื่องเคลือบเม็ดยา 12. เครื่องขัดเงาเม็ดยา
:: ขั้นตอนการเคลือบเม็ดยา ::
1. นำยาลูกกลอนที่แห้งดีแล้วใส่ในเครื่องเคลือบเม็ดยา ละลายแชลแล็ค 4 ส่วน ด้วยแอลกอฮอล์ 6 ส่วน เทลงในถังเคลือบเม็ดยาที่กำลังหมุน ใช้ลมเย็นเป่าจนแชลแล็คแห้งดีแล้วคัดเม็ดยาที่ติดกันออก ทำซ้ำ 1-2 ครั้ง
2. ทำน้ำแป้งทัลคัม โดยใช้แป้งทัลคัม 20-35%, กัมอาคาเซีย5-10%, น้ำตาล 40-50%, น้ำ 20-30% ต้มให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
3. นำเม็ดยาที่ได้จากข้อ 1 ใส่ลงในถังเคลือบเม็ดยา เดินเครื่องแล้ว เทน้ำแป้งทัลคัมลงไป พร้อมกับโรยแป้งทัลคัม ใช้ลมร้อนอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียส เป่าเม็ดยา เมื่อแห้งดีแล้ว แยกเอาเม็ดยาที่ติดกันออก ทำซ้ำ 8-10 ครั้ง จนเม็ดยาเป็นสีขาว
4. เคลือบสีรองพื้น โดยนำสีเพียงเล็กน้อยมาผสมน้ำแป้งทัลคัม เทลงในถังเคลือบเม็ดยาในขณะเดินเครื่อง เป่าให้แห้ง แล้วทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
5. เคลือบสี โดยใช้น้ำตาล 2 ส่วน กับน้ำ 1 ส่วน ทำเป็นน้ำเชื่อม เติมสีตามความต้องการ นำไปเคลือบซ้ำบนเม็ดยา จนได้สีตามต้องการ
6. เคลือบเงา โดยใช้ ขี้ผึ้งคานูบา 40 ส่วน ผสมขี้ผึ้งขาว 4 ส่วน ละลายในคาร์บอนเตทตระคลอไรด์ 95% นำมาใส่ในเครื่องเคลือบเม็ดยา
7. นำเม็ดยามาขัดเงาด้วยเครื่องขัดเงาจนสวยงามตามต้องการ


:: การสุมยา ::
:: ขั้นตอนการสุมยา ::
1. นำตัวยาที่จะสุม มาสับเป็นชิ้นเป็นท่อนขนาดพอเหมาะ ใส่ลงในหม้อดินใหม่
2. นำดินสอพองมาบดผสมน้ำพอข้นๆ โป๊วยาแนวฝาหม้อให้สนิท
3. นำไปสุมไฟตามกรรมวิธีของการสตุหรือฆ่าฤทธิ์ของตัวยานั้นๆ เช่น หัวงูเห่าหรือสมุนไพรที่มีพิษ สุมด้วยไฟแกลบทั้งคืน, ตัวยาอื่นๆ อาจสุมด้วยฟืนหรือถ่านได้
4. เมื่อสุมจนตัวยากลายเป็นถ่านหมดทั่วกันแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำไปผสมยา

อ้างอิง
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น