Dekdee.com

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้ที่ดับทุกข์ได้

 
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบความจริงของโลกและชีวิต อันได้แก่ ธรรมชาติทั้งหลาย มีการเกิดดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาเพราะเหตุปัจจัย มาประชุมกันชั่วคราว และต้องแตกสลายในที่สุด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีอะไรยืนยงถาวร เป็นสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับบัญชาได้ เมื่อท่านรู้เห็นอย่างนี้แล้ว ท่านจึงนำความรู้นี้ไปศึกษาเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนพบอริยสัจสี่ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ เบื้องหลังการเวียนว่ายตายเกิด และการปฏิบัติเพื่อดับชาติดับภพ

สิ่ง ที่ทำให้คนเราเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วนนั้นเรียกเป็นภาษาธรรมว่า “อวิชชา” ซึ่งได้แก่ ความไม่รู้จักธรรมชาติตามสภาวะที่มันเป็นจริง จึงได้เกิดการคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นาๆ เกิดการหลงไปกับความคิด เกิดการยึดมั่นถือมั่น กลายมาเป็นทุกข์ ในที่สุด

ความจริงของทุกข์ แบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ ทุกข์ที่เกิดตามธรรมชาติ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีใครหนีพ้น สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ตามธรรมชาตินี้ ก็คือ ทุกข์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ ได้แก่ ความพอใจ ไม่พอใจ หลงไปตามความพอใจไม่พอใจนั้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส ในคิดนึก นอกจากนั้นไม่มีทุกข์เกิด

ความพอใจ ในภาษาธรรมก็คือ “โลภะ” ความไม่พอใจก็คือ “โทสะ” การหลงไปตามความพอใจไม่พอใจก็คือ “โมหะ” รวมเรียกว่า “อวิชชา” หรือ เหตุของอกุศล เหตุของทุกข์ทั้งปวง

ที่มัน เกิดเป็นทุกข์ ก็เพราะความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรารับกระทบสัมผัสทั้ง ๖ ทาง คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ โดยมี “อวิชชาสวะ” ที่สะสมในจิตใจเรามาข้ามชาติข้ามภพเป็นตัวคอยบงการอยู่เบื้องหลัง ปุถุชนทั่วไปจึงไม่สามารถต้านทานได้โดยง่าย เพราะแท้จริงแล้ว คนเราสั่งตัวเองไม่ได้ ความเคยชินหรือความรู้ความจำที่สะสมมาข้ามชาติข้ามภพเป็นตัวสั่ง หรือเรียกว่า “นิสัย” นั่นเอง

นิสัย เกิดจากการสะสมความรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจ ตลอดชีวิต รวมไปถึงชาติภพก่อนๆ เป็นอันมาก เมื่อเรารู้เห็นอะไรแล้วคิดปรุงแต่ง สิ่งนั้นจะถูกเก็บไว้ในความทรงจำ เรียกว่าการเกิดของ “อวิชชาใหม่” และจะกลับมาเป็นข้อมูลที่สั่งให้เราเกิดพฤติกรรมทางทาย วาจา ใจ เมื่อเราเกิดความพอใจ ไม่พอใจ หลงไปกับความพอใจไม่พอใจ ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะเก็บสะสมมากเข้าจนก่อตัวเป็นนิสัย ข้อมูลไหนมีมาก มีซ้ำๆ ซากๆ จำนวนมาก ข้อมูลนั้นก็จะมีอิทธิพลต่อความคิดของคนเรามาก หรือเรียกว่า เกิดเป็นอินทรีย์ แสดงความเป็นใหญ่ในหน้าที่ได้ ข้อมูลในจิตแบบนี้นี่เองที่เป็นเบื้องหลังของลักษณะเฉพาะของบุคคล

จะ เห็นได้ว่า ปุถุชน จะเอา “อวิชชาเก่า” ไปสร้าง “อวิชชาใหม่” อยู่ตลอดเวลา หรือเอาทุกข์ไปสร้างทุกข์ อวิชชาก็หนาแน่นมั่นคงอยู่ในจิตใจ จนไม่สามารถต้านทานมันได้โดยง่าย

อวิชชาที่สะสมในจิตใจนั้น เราเอาออกไม่ได้ แต่เราหยุดการเกิดของอวิชชาใหม่ได้ คือ ต้องไปขัดขวางกระบวนการคิดปรุงแต่ง สิ่งที่จะเอาไปดับการเกิดของอวิชชา คือ ความจริง เพราะการหลงไปกับสิ่งที่เข้ามากระทบสัมผัสเป็นเพียงความคิดเห็น ความจริงที่เอาไปดับความเห็นได้ คือ กฎธรรมชาติ ๑ กฎที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ได้แก่ กฎไตรลักษณ์ และ กฎอิททัปปัจจนายตาปกิจสมุปบาท สรุปเป็นคำๆ เดียวว่า “ไม่เที่ยง”
ต่อท้าย #1 12 ต.ค. 2553, 18:46:48
“ไม่เที่ยง” ก็คือ ธรรมชาติทั้งหลาย มีการเกิดดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาเพราะเหตุปัจจัย มาประชุมกันชั่วคราว และต้องแตกสลายในที่สุด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีอะไรยืนยงถาวร เป็นสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับบัญชาได้

เมื่อตาเห็นรูป ให้พิจารณารูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า รูปที่เห็นนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราคนเห็นก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

เมื่อหูได้ยินเสียง ให้พิจารณาเสียงนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า เสียงที่ได้ยินนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

เมื่อจมูกได้กลิ่น ให้พิจารณากลิ่นนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า กลิ่นนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

เมื่อ ลิ้นรับรส ให้พิจารณารสนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า รสนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราคนก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

เมื่อกายสัมผัส ให้พิจารณาสัมผัสนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า สัมผัสนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

เมื่อใจคิดนึก ให้พิจารณาความคิดนั้นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ความคิดนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ต้องดับไป ตัวเราก็ไม่เที่ยง หนุ่ม แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องตาย

ถ้าเราสามารถพิจารณาได้อย่างนี้ เรียกว่า เอาปัญญาสัมมาทิฐิไปตั้งรับไว้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความจริงที่ยกเอามาพิจารณาจะหยุดการคิดปรุงแต่ง เมื่อไม่เกิดการคิดปรุงแต่ง อวิชชาใหม่ก็ไม่เกิด จิตจะเก็บความจริงไว้ในจิตแทน ความจริงนี้ภาษาธรรมเรียกว่า “วิชชา” แปลว่า เราเอาวิชชาไปดับอวิชชา หรือ เอาความจริงไปดับความเห็น หรือ เอาปัญญาไปดับทุกข์ ดับทันที่ที่มันเกิด ทุกข์เกิดที่ไหนเราดับมันที่นั่น

เมื่อวิชชาเกิดสะสมในจิตมากขึ้น มันก็จะเกิดความเป็นใหญ่ในหน้าที่ หรือเกิดเป็น “ปัญญินทรีย์” เริ่มส่งผลต่อความนึกคิดของเรา หรือกลายเป็นนิสัยใหม่ของเรา จึงอุปมาการปฏิบัติธรรมว่า เหมือนเอาน้ำจืดเติมลงไปในน้ำเกลือ ให้ความเค็มลดลงจนหายไปในที่สุด คำว่าเกลือคืออวิชชาเก่าที่สะสมอยู่ในจิต คำว่าน้ำจืดคือวิชชาที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ นั่นเอง

ถ้าเราทำอย่างนี้ เป็นประจำ ทำให้ครบทั้ง ๖ ทาง ด้วยความเพียร จนความจริงสะสมไว้ในใจเรามากๆ จะส่งผลให้เราสามารถดับทุกข์ได้ถาวร พบมรรคผลนิพพาน ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ภายใน ๗ สัน ๗ เดือน ๗ ปี ถ้าไม่ได้ทำอนันตริยกรรมมาก่อน ก็คือผู้ที่กำลังเดินอยู่ในทางอันประเสริฐ เพื่อดับชาติดับภพ เป็นที่สุด…
ต่อท้าย #2 25 ต.ค. 2553, 15:23:52
ตอบคุณ manuel (ผู้ใช้ใหม่): การปฏิบัติธรรม การบรรลุธรรม จะต้องเป็นไปเป็นขั้นเป็นตอน จะลัดขั้นตอนนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันไม่ถูกตามเหตุปัจจัย การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ มรรคเบื้องล่าง (หรือ โสดาปัตติมรรค) และ มรรคเบื้องสูง (หรือ อรหันตมรรค) โสดาปัตติมรรคปหานกิเลสอย่างหยาบก่อน อรหันตมรรคจะปหานกิเกลสอย่างกลางอย่างละเอียด

ตามธรรมวินัย พระพุทธองค์ให้เจริญวิปัสสนา พิจารณาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖ ก่อน สำหรับพระท่านเรียกว่าการฝึกคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เมื่อฝึกจนตั้งอยู่ที่โสดาปัตติผล ท่านจึงให้เจริญสติปฐานต่อ เพื่อบรรลุอรหันตผล คำว่า "ทางนี้เป็นทางอันเอกเพื่อล่วงโสกะปริวาทะ ฯลฯ" ในมหาสติปฐานสูตร หมายถึง "อรหันตผล" ไม่ใช่โสดาปัตติผล และท้ายสติปฐานสูตร พระพุทธองค์ตรัสผลของการเจริญสติปฐานไว้ว่า มี ๒ ประการคือ อรหันตผล หรือ อนาคามีผล ไม่ใช่โสดาปัตติผล

ในพระวินัยแสดงสภาวะสติปฐานว่าเป็น อุตริมนุธรรม คือ เป็นสภาวะที่ไม่มีในปุถุชน ถ้าเป็นภิกษุ ไม่มีสติปัฏฐาน บอกว่ามี ก็ต้องอาบัตปราชิก

องค์ธรรมในโพธิปักฯ คือธรรมที่เป็นโลกุตตระ มรรค ๘ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติปัฏฐาน การสร้างองค์ธรรมในมรรค ๘ ท่านให้เริ่มที่การฝึกเพื่อสร้างสัมมาทิฏฐิที่เป็นอนาสวะนับเนื่องในองค์ มรรคก่อนเป้นอันดับแรก หรือ การฝึกเพื่อสร้างปัญญามาดับทุกข์ ปัญญาสัมมาทิฏฐิได้มาจากการฝึก ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ

หลายๆ จุดในพระสูตร พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุปกติเห็น กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าไม่เที่ยง ฯ นั้นท่านหมายถึง พระอริยะที่ตั้งอยู่อย่างน้อยโสดาปัตติผล พระอริยะข้ามความเห็นไปแล้ว จึงเห็นความจริงในธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยงเป็นปกตินิสัย

ปุถุชน ไปเจริญตามมหาสติปฐานสูตร จะเป็นการบังคับเอาจิตไปติดตามอาการหรืออริยาบทเท่านั้น เป็นเพียงการติดตามอารมณ์ ผลที่ได้ก็คือ มิจฉาสมาธิ ไม่ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ... บ้างปฏิบัติจนได้อัปนาสมาธิ มีฤทธิ์เห็นโน่นเห็นนี่ หรือโดนเทวปุตมารครอบไม่รู้ตัว เข้าใจว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงก็มี

ความผิดพลาดที่มีการนำการ ปฏิบัติในมหาสติปฐานมาปฏิบัติกันในวงกว้าง ทั้งพระทั้งฆราวาส เพราะไม่ได้ศึกษาธรรมวินัยให้ถ้วนถี่ เห็นพระสูตรบอกว่า "ดูกรภิกษุ" พระบวชใหม่ก็คิดว่า ฉันก็บวชเป็นพระนะ น่าจะนำมาปฏิบัติได้ ท่านลืมนึกไปว่า ท่านยังเป็นสมมุติสงฆ์ ไม่ใช่อริยะสงฆ์ ไปเอาการปฏิบัติของพระอริยะมาปฏิบัติ ท่านก็เลยไม่ได้อะไรเลย ยังมีการนำมาสอนฆราวาส เพราะเห็นว่า ฉันทำได้ ฆราวาสก็น่าจะทำได้ เปิดเป็นสำนักวิปัสสนามากมายทั่วโลก ไม่มีใครเอะไจสะดุดใจกันบ้างเลยว่าผิด พากันหลงไปค่อนโลก ...
ต่อท้าย #3 26 ต.ค. 2553, 11:08:05
ตอบคุณ manuel: ธรรมมะ หรือ ธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คิดเองไม่ได้ เกิดเองไม่ได้ ฯ ลองนึกถึงสูตรเคมี ถ้าผิดสูตร ผิดส่วนผสม ผิดขั้นตอน ผลก็ไม่ได้ตามต้องการ ฉะนั้นเหมือนกัน

ความสงบสุขที่ท่าน ได้จากการทำจิตให้ว่างชั่วคราว ด้วยการไปติดตามอริยาบท หรือติดตามอาการใดๆ ก็ดี เป็นเพียงการหลบกระทบสัมผัส ทำไม่รู้ไม่ชี้ เฉใฉไปสนใจเรื่องอื่น โดยการไปจดจ้องอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเท่านั้น ความสงบแบบนี้ ยังไม่สุขไม่ปราณีตเท่ากับการรู้เห็นความจริงด้วยปัญญา เมื่อปัญญาตั้งมั่น เราไม่ต้องไปหลบอะไร ไม่ต้องไปกลัวอะไร รู้ก็แค่รู้ เห็นก็แค่เห็น ฯ ไม่ปรุงแต่ง เราจึงจะอยู่กับโลกได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องหนีโลกไปใหน แค่รู้ให้ได้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยงฯ

ความผิดพลาดของชาวพุทธ คือ ไปถือเอาคำเขาว่า รับรู้ต่อๆ กันมา ไม่ได้เรียนรู้ศึกษาคำสอนที่ถูกต้องครบถ้วนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ไปสรุปเอาเองว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาต้องมาจากพระพุทธเจ้าแน่นอน เมื่อมาปฏิบัติ ก็พบว่า มันยากเย็นแสนเข็ญ ไม่เห็นว่าจะเป็นทางสายกลางอย่างที่เคยได้ยิน ไม่พบทางสว่างสักที แต่ก็ยังดันทุรังทำต่อ สุดท้ายก็ไปสรุปว่า มรรคนั้นยาก ... กลายเป็นว่าพากันไปเป็นสาวกของศาสนาพราหมณ์ไม่รู้เนื้อรู้ตัว นุ่งขาวห่มขาวไปอยู่ตามวัดตามป่า หนีสังคม หนีโลก ฯ ใครมาแตะก็โกรธ เพราะไม่ได้ฝึกเพื่อดับโกรธตามทางที่พระพุทธองค์สอน เป็นเพียงการฝึกตัวเองเพื่อหลบทุกข์อยู่หลังความสงบเท่านั้น

คำสอน ของพระพุทธองค์มาจากการตรัสรู้ รู้เห็นอย่างไรก็นำมาแสดงอย่างนั้น เราได้แต่เรียนรู้เพื่อเข้าใจและปฏิบัติตามเท่านั้น เพราะเรายังไม่รู้ไม่เห็นเหมือนพระพุทธองค์

ถ้าท่านต้องการมี สติปัฏฐาน ท่านต้องไปทำที่เหตุของการเกิดสติปัฏฐาน ไม่ใช่เอาการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม มาปฏิบัติ เพราะมันเป็นวิสัยของอริยะบุคคล ไม่ใช่วิสัยของปุถุชน

สติปัฏฐาน แปลง่ายๆ ว่า เห็นอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง เหตุของสติปัฏฐานคือ องค์ธรรมหรือสภาวะในอริยมรรคมีองค์ ๘ เหตุของการเกิดมรรค ๘ คือ การสะสม วิชชา หรือความจริงไว้ในจิตใจมากๆ ซึ่งได้มาจากการพิจารณาขันธ์ ๕ อินทรีย์ ๖ เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ต้องพยายามที่จะพิจารณาสิ่งที่เข้ามากระทบสัมผัสให้ได้ อย่างน้อยวันละประมาณ ๑ ชั่วโมงติดๆ กันทุกๆ วัน ความจริง หรือ ปัญญา จึงจะตั้งมั่น เมื่อปัญญาตั้งมั่นแล้ว สัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งมรรคก็จะเกิดถาวรกับคุณ องค์ธรรมอื่นในมรรคจะเกิดกับคุณเอง นี่เป็นวิธีสร้างปัญญาที่ถูกต้องตามธรรมวินัย

เมื่อความจริงตั้งมั่น ความเห็นก็บริบูรณ์ สุจริต ๓ ก็จะเกิดขึ้นมั่นคง จิตใจก็ไม่ว้าวุ่นฟุ้งซ่าน หรือสงบเป็นสมาธิ เพราะเห็นอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ...
ต่อท้าย #4 25 พ.ย. 2553, 12:50:48
บุคคลผู้มนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง มากด้วยความน้อมใจไป ย่อมได้สัทธินทรีย์ ผู้มนสิการโดยความเป็นทุกข์ มากด้วยความสงบ ย่อมได้สมาธินทรีย์ ผู้มนสิการโดยความเป็นอนัตตา มากด้วยความรู้ ย่อมได้ปัญญินทรีย์ ฯ

เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง  เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลพึงเป็นสัทธาธิมุต เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตาสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงเป็นสัทธาธิมุตบุคคล ๓ จำพวกนี้ เป็นสัทธาธิมุตด้วยสามารถแห่งสัทธินทรีย์อย่างนี้

เมื่อมนสิการโดย ความเป็นทุกข์ สมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงเป็นกายสักขี เมื่อมนสิการโดยความเป็นอนัตตา สมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง ... เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงสมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงเป็นกายสักขีบุคคล ๓ จำพวกนี้ เป็นกายสักขีด้วยสามารถแห่งสมาธินทรีย์อย่านี้ ฯ

เมื่อมนสิการโดย ความเป็นอนัตตา ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงเป็นทิฐิปัตตะ เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง...เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงเป็นทิฐิปัตตะ

เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง สัทธินทรีย์มี ประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงได้โสดาปัตติมรรค เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นสัทธานุสารี

ก็ บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้โสดาปัตติมรรคด้วยสามารถแห่งสัทธินทรีย์ บุคคลทั้งหมดนั้นเป็นสัทธานุสารีบุคคล เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่งเพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผล เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นสัทธาธิมุตบุคคล

เมื่อมนสิการโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง สัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสัทธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงได้สกทาคามิมรรค ฯลฯทำให้แจ้งสกทาคามิผล ได้อนาคามิมรรคทำให้แจ้งอนาคามิผล ได้อรหัตมรรคทำให้แจ้งอรหัตผล เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นสัทธาธิมุตบุคคล

เมื่อมนสิการโดย ความเป็นทุกข์ สมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงได้โสดาปัตติมรรค เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นกายสักขีบุคคล

เมื่อ มนสิการโดยความเป็นทุกข์สมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะสมาธินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผล ฯลฯ ได้สกทาคามิมรรค ทำให้แจ้งสกทาคามิผล ได้อนาคามิมรรคทำให้แจ้งอนาคามิผล ได้อรหัตมรรค ทำให้แจ้งอรหัตผล เพราะเหตุนั้นจึงกล่าวว่าเป็นกายสักขีบุคคล

มื่อ มนสิการโดยความเป็นอนัตตา ปัญญินทรีย์ มีประมาณยิ่ง เพราะปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงได้โสดาปัตติมรรค เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นธรรมานุสารีบุคคล

เมื่อมนสิการโดย ความเป็นอนัตตา ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง บุคคลจึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผลเพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็น
ทิฐิปัตตบุคคล

เมื่อ มนสิการโดยความเป็นอนัตตา ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง เพราะปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่งบุคคลจึงได้สกทาคามิมรรค ฯลฯ ทำให้แจ้งสกทาคามิผล ได้อนาคามิมรรคทำให้แจ้งอนาคามิผล ได้อรหัตมรรค ทำให้แจ้งอรหัตผล เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นทิฐิปัตตบุคคล
ต่อท้าย #5 25 พ.ย. 2553, 12:54:11
ตอบคุณ whatami.net: อริยบุุคลมี ๓ ประเภท ตามที่ผมได้คัดลอกบางส่วนของพระไตรปิฏกมาให้ดู ท่านจะวิปัสสนาโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือความไม่มีตัวตนก็ได้ ท่านจะสำเร็จเป็นอริยบุคคลประเภทใดก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ท่านด่วนสรุปว่า ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตาเพียงอย่างเดียว จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกต้องครบถ้วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น