Dekdee.com

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เรื่องยาเสพติด

ความรู้เรื่องยาเสพติด

๑. ความหมายของยาเสพติด
          ยาเสพติด  หมายถึง สารใดก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือสารที่สังเคราะห์ขึ้น เมี่อนำเข้าสู้ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดการเสพติดได้ หากใช้สารนั้นเป็นประจำทุกวัน หรือวันละหลาย ๆ ครั้ง
          ลักษณะสำคัญของสารเสพติด จะทำให้เกิดอาการ และอาการแสดงต่อผู้เสพดังนี้
              ๑.  เกิดอาการดื้อยา หรือต้านยา และเมื่อติดแล้ว ต้องการใช้สารนั้นในประมาณมากขึ้น
              ๒.  เกิดอาการขาดยา ถอนยา หรืออยากยา เมื่อใช้สารนั้นเท่าเดิม ลดลง หรือหยุดใช้
              ๓.  มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างรุนแรงตลอดเวลา
              ๔.  สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง เกิดโทษต่อตนเอง  ครอบครัว  ผู้อื่น  ตลอดจนสังคม และประเทศชาติ
๒. ประเภทของยาเสพติด
          ยาเสพติด แบ่งได้หลายรูปแบบ ตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

           ๑.  แบ่งตามแหล่งที่เกิด  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท คือ
                  ๑.๑  ยาเสพติดธรรมชาติ  (Natural  Drugs) คือยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืช เช่น  ฝิ่น กระท่อม  กัญชา  เป็นต้น
                  ๑.๒  ยาเสพติดสังเคราะห์  (Synthetic  Drugs)  คือยาเสพติดที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี  เช่น เฮโรอีน  แอมเฟตามีน  เป็นต้น
              ๒.  แบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
                  ๒.๑  ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๑  ได้แก่ เฮโรอีน  แอลเอสดี  แอมเฟตามีน หรือยาบ้า  ยาอีหรือยาเลิฟ
                  ๒.๒  ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๒  ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้  แต่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์    และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่  ฝิ่น  มอร์ฟีน  โคเคน หรือโคคาอีน  โคเคอีน  และเมทาโดน
                  ๒.๓  ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่  ๓   ยาเสพติดประเภทนี้เป็นยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดประเภทที่  ๒   ผสมอยู่ด้วย มีประโยชน์ทางการแพทย์   การนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น หรือเพื่อเสพติด จะมีบทลงโทษกำกับไว้  ยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่
ยาแก้ไอ  ที่มีตัวยาโคเคอีน  ยาแก้ท้องเสีย ที่มีฝิ่นผสมอยู่ด้วย  ยาฉีดระงับปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน  เพทิดีน  ซึ่งสกัดมาจากฝิ่น
                  ๒.๔  ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่  ๔  คือสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ ๑ หรือประเภทที่ ๒   ยาเสพติดประเภทนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคแต่อย่างใด  และมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย  ได้แก่น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์ และ อะเซติลคลอไรด์  ซึ่งใช้ในการเปลี่ยนมอร์ฟีนเป็นเฮโรอีน  สารคลอซูไดอีเฟครีน  สามารถใช้ในการผลิตยาบ้าได้ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีก ๑๒ ชนิด  ที่สามารถนำมาผลิตยาอีและยาบ้าได้ในยาเสพติดประเภทที่ ๑ ถึง ๔  ได้แก่  ทุกส่วนของพืชกัญชา  ทุกส่วนของพืชกระท่อม   เห็ดขี้ควาย เป็นต้น
              ๓.  แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท  ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
                  ๓.๑  ยาเสพติดประเภทกดประสาท  ได้แก่   ฝิ่น   มอร์ฟีน   เฮโรอีน   สารระเหย  และยากล่อมประสาท
                  ๓.๒  ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท  ได้แก่  แอมเฟตามีน  กระท่อม และ โคคาอีน
                  ๓.๓  ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท  ได้แก่  แอลเอสดี  ดีเอ็มพี  และ เห็ดขี้ควาย
                  ๓.๔  ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน    กล่าวคือ  อาจกดกระตุ้น หรือ หลอนประสาทได้พร้อม ๆ กัน  ตัวอย่างเช่น  กัญชา
              ๔.  แบ่งตามองค์การอนามัยโลก  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น  ๙  ประเภท คือ
                  ๔.๑  ประเภทฝิ่น  หรือ  มอร์ฟีน   รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน  ได้แก่ ฝิ่น  มอร์ฟีน  เฮโรอีน   เพทิดีน
                  ๔.๒  ประเภทยาปิทูเรท  รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์ทำนองเดียวกัน ได้แก่  เซโคบาร์ปิตาล  อะโมบาร์ปิตาล  พาราลดีไฮด์  เมโปรบาเมท ไดอาซีแพม เป็นต้น
                  ๔.๓  ประเภทแอลกอฮอล  ได้แก่  เหล้า   เบียร์  วิสกี้
                  ๔.๔  ประเภทแอมเฟตามีน  ได้แก่  แอมเฟตามีน  เมทแอมเฟตามีน
                  ๔.๕  ประเภทโคเคน  ได้แก่  โคเคน  ใบโคคา
                  ๔.๖  ประเภทกัญชา  ได้แก่  ใบกัญชา  ยางกัญชา
                  ๔.๗  ประเภทใบกระท่อม
                  ๔.๘  ประเภทหลอนประสาท  ได้แก่ แอลเอสดี  ดีเอ็นที  เมสตาลีน  เมลัดมอนิ่งกลอรี่   ต้นลำโพง  เห็ดเมาบางชนิด
                  ๔.๙  ประเภทอื่น ๆ  นอกเหนือจาก  ๘  ประเภทข้างต้น  ได้แก่  สารระเหยต่าง ๆ  เช่น ทินเนอร์  เบนซิน  น้ำยาล้างเล็บ  ยาแก้ปวด  และบุหรี่
๓. วิธีการเสพยาเสพติด
          กระทำได้หลายวิธี ดังนี้คือ
                  ๓.๑  สอดใต้หนังตา
                  ๓.๒  สูบ
                  ๓.๓  ดม
                  ๓.๔  รับประทานเข้าไป
                  ๓.๕  อมไว้ใต้ลิ้น
                  ๓.๖  ฉีดเข้าเหงือก
                  ๓.๗  ฉีดเข้าเส้นเลือด
                  ๓.๘  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
                  ๓.๙  เหน็บทางทวารหนัก
๔. ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศไทย  ได้แก่
                  ๔.๑  ยาบ้า
                  ๔.๒  ยาอี  ยาเลิฟ  หรือ เอ็กซ์ตาซี
                  ๔.๓  ยาเค
                  ๔.๔  โคเคน
                  ๔.๕  เฮโรอีน
                  ๔.๖  กัญชา
                  ๔.๗  สารระเหย
                  ๔.๘  แอลเอสดี
                  ๔.๙  ฝิ่น
                  ๔.๑๐  มอร์ฟีน
                  ๔.๑๑  กระท่อม
                  ๔.๑๒  เห็ดขี้ควาย
๕. สาเหตุของการติดยาเสพติด
          มีหลายประการ ดังนี้คือ
                  ๕.๑  อยากลอง อยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัส ซึ่งเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์  โดยคิดว่า "ไม่ติด"  แต่เมื่อลองเสพเข้าไปแล้วมักจะติด
                  ๕.๒  ถูกเพื่อนชักชวน  ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเยาวชน ทำตามเพื่อน  เพราะต้องการ การยอมรับจากเพื่อนฝูง หรือถูกชักจูงว่าใช้แล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง  หรือใช้แล้วทำให้ขยันจึงเหมาะแก่การเรียน และการทำงาน
                  ๕.๓  ถูกหลอกลวง  โดยอาศัยรูปแบบสีสันสวยงาม  ทำให้ผู้รับไม่อาจทราบได้ว่า สิ่งที่ตนได้รับเป็นยาเสพติด
                  ๕.๔  ใช้เพื่อลดความเจ็บปวดทางกาย  อันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ  จนเกิดการติดยา เพราะใช้เป็นประจำ
                  ๕.๕  เกิดจากความคนอง และขาดสติยั้งคิด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นยาเสพติด แต่อยากแสดง ความเก่งกล้า อวดเพื่อน จึงชวนกันเสพจนติด
                  ๕.๖  ภาวะสิ่งแวดล้อมรอบตัว เอื้ออำนวยที่จะส่งเสริม  และผลักดันให้หันเข้าหายาเสพติด เช่น  ครอบครัวแตกแยก สมาชิกในครอบครัวขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ภาวะเศรษฐกิจบีบบังคับให้ทำเพื่อความอยู่รอด  อยากรวยเร็ว หรือพักอาศัยอยู่ ในแหล่งที่มีการเสพและค้ายาเสพติด
๖. โทษ/พิษภัย ของยาเสพติด
          การใช้ยาเสพติด  มีโทษและพิษภัยรอบตัว นอกจากจะส่งผลกระทบในทางไม่ดีโดยตรงต่อตัวผู้เสพแล้ว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ยังส่งผลกระทบทางอ้อมไปยังครอบครัวผู้เสพ ตลอดจนเศรษฐกิจ  สังคม และประเทศชาติอีกด้วย
บทลงโทษเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
        - ผู้จำหน่ายหรือมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง น้ำหนักไม่เกิน 100 กรัม จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงตลอดชีวิต
และปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท เกิน 100 กรัม ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
        - มีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
        - ผู้เสพเฮโรอีนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
        - มีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท
        - ผู้ใดเสพกัญชา จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
        - มีกัญชาไว้ในครอบครอง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 50,000 บาท
        - ผลิต (ปลูก) กัญชา จำคุกอย่างต่ำ 2 ปี และปรับอย่างต่ำ 20,000-150,000บาท
สารระเหย สารเสพติด ผิดกฎหมาย
๗. วิธีสังเกตุอาการผู้ติดยาเสพติด
            จะสังเกตว่าผู้ใดใช้หรือเสพยาเสพติด  ให้สังเกตจากอาการและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และจิตใจดังต่อไปนี้
                  ๗.๑  การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย  จะสังเกตได้จาก
                      ๗.๑.๑   สุขภาพร่างกายทรุดโทรม  ซูบผอม  ไม่มีแรง  อ่อนเพลีย
                      ๗.๑.๒  ริมฝีปากเขียวคล้ำ  แห้ง  และแตก
                      ๗.๑.๓  ร่างกายสกปรก  เหงื่อออกมาก  กลิ่นตัวแรงเพราะไม่ชอบอาบน้ำ
                      ๗.๑.๔  ผิวหนังหยาบกร้าน  เป็นแผลพุพอง  อาจมีหนองหรือน้ำเหลือง คล้ายโรคผิวหนัง
                      ๗.๑.๕  มีรอยกรีดด้วยของมีคม  เป็นรอยแผลเป็นปรากฏที่บริเวณแขน  และ/หรือ ท้องแขน
                      ๗.๑.๖  ชอบใส่เสื้อแขนยาว  กางเกงขายาว  และสวมแว่นตาดำเพื่อปิดบังม่านตาที่ ขยาย
                  ๗.๒  การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ  ความประพฤติและบุคลิกภาพ  สังเกตุได้จาก
                      ๗.๒.๑  เป็นคนเจ้าอารมย์  หงุดหงิดง่าย  เอาแต่ใจตนเอง  ขาดเหตุผล
                      ๗.๒.๒  ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่
                      ๗.๒.๓  ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
                      ๗.๒.๔  พูดจากร้าวร้าว  แม้แต่บิดามารดา  ครู อาจารย์  ของตนเอง
                      ๗.๒.๕  ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไม่เข้าหน้าผู้อื่น  ทำตัวลึกลับ
                      ๗.๒.๖  ชอบเข้าห้องน้ำนาน ๆ
                      ๗.๒.๔  ใช้เงินเปลืองผิดปกติ  ทรัพย์สินในบ้านสูญหายบ่อย
                      ๗.๒.๕  พบอุปกรณ์เกี่ยวกับยาเสพติด  เช่น  หลอดฉีดยา  เข็มฉีดยา  กระดาษตะกั่ว
                      ๗.๒.๖  มั่วสุมกับคนที่มีพฤติกรรมเกี่ยวกับยาเสพติด
                      ๗.๒.๗  ไม่สนใจความเป็นอยู่ของตนเอง  แต่งกายสกปรก ไม่เรียบร้อย ไม่ค่อยอาบน้ำ
                      ๗.๒.๘  ชอบออกนอกบ้านเสมอ ๆ  และกลับบ้านผิดเวลา
                      ๗.๒.๙  ไม่ชอบทำงาน  เกียจคร้าน  ชอบนอนตื่นสาย
                      ๗.๒.๑๐  มีอาการวิตกกังวล   เศร้าซึม   สีหน้าหมองคล้ำ
                  ๗.๓  การสังเกตุอาการขาดยา  ดังต่อไปนี้
                      ๗.๓.๑  น้ำมูก  น้ำตาไหล หาวบ่อย
                      ๗.๓.๒  กระสับกระส่าย  กระวนกระวาย  หายใจถี่  ปวดท้อง  คลื่นไส้  อาเจียน  เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  อาจมีอุจาระเป็นเลือด
                      ๗.๓.๓  ขนลุก  เหงื่อออกมากผิดปกติ
                      ๗.๓.๔  ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ปวดเสียวในกระดูก
                      ๗.๓.๕  ม่านตาขยายโตขึ้น  ตาพร่าไม่สู้แดด
                      ๗.๓.๖  มีอาการสั่น  ชัก  เกร็ง  ไข้ขึ้นสูง  ความดันโลหิตสูง
                     ๗.๓.๗  เป็นตะคริว
                      ๗.๓.๘  นอนไม่หลับ
                      ๗.๓.๙  เพ้อ  คลุ้มคลั่ง  อาละวาด  ควบคุมตนเองไม่ได้
๘. การตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดในร่างกาย
          การตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย  แบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน
                   ๘.๑  การตรวจขั้นต้น : ราคาถูก ได้ผลเร็ว มีชุดตรวจสำเร็จรูป  ความแม่นยำในการตรวจปานกลาง  สดวกในการนำไปตรวจนอกสถานที่
                   ๘.๒  การตรวจขั้นยืนยัน : เป็นการตรวจที่ให้ผลแม่นยำ แต่ใช้เวลาตรวจนาน ค่าใช้จ่ายสูง
การป้องกันการติดยาเสพติด
        1. ป้องกันตนเอง ไม่ใช้ยาโดยมิได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และจงอย่าทดลองเสพยาเสพติดทุกชนิดโดยเด็ดขาด เพราะติดง่ายหายยาก
        2. ป้องกันครอบครัว ควรสอดส่องดูแลเด็กและบุคคลในครอบครัวหรือที่อยู่รวมกัน อย่าให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องคอยอบรมสั่งสอนให้รู้ถึงโทษและภัยของยา-เสพติด หากมีผู้เสพยาเสพติดในครอบครัวจงจัดการให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลให้หาย เด็ดขาด การรักษาแต่แรกเริ่มติดยาเสพติดมีโอกาสหายได้เร็วกว่าที่ปล่อยไว้นานๆ
        3. ป้องกันเพื่อนบ้าน โดยช่วยชี้แจงให้เพื่อนบ้านเข้าใจถึงโทษและภัยของยาเสพติด โดยมิให้เพื่อนบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้องถูกหลอกลวง และหากพบว่าเพื่อนบ้านติดยาเสพติด จงช่วยแนะนำให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
        4. ป้องกันโดยให้ความร่วมมือกับทางราชการ เมื่อทราบว่าบ้านใดตำบลใด มียาเสพติดแพร่ระบาดขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่งทุกท้องที่ทราบ หรือที่ศูนย์ปราบปรามยาเสพติดให้โทษ กรมตำรวจ (ศปส.ตร.) โทร. 252-7962 , 252-5932 และที่สำนักงานคณดะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) สำนักนายกรัฐมนตรี โทร. 245-9350-9
สถานบำบัด
        1. โรงพยาบาลตำรวจ แผนกจิตเวช กรุงเทพฯ โทร.2528111-7
        2. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แผนกจิตเวช กรุงเทพฯ โทร.2461946
        3. โรงพยาบาลธัญญารักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โทร.5310080-8
        4. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ โทร.4681116-20
        5. โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ โทร. 4112191
        6. ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพฯ ลุมพินี ซอยปลุกจิตต์ ถ.วิทยุ โทร.2512970
        7. ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพฯ สี่พระยา โทร.2364055
        8. สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก จ.สระบุรี
        9. สำนักสงฆ์ถ้ำเขาทะลุ จ.ราชบุรี


>>> แนะนำเลยว่าอย่าไปยุ่งกับสิ่งเหล่านี้เลย <<<

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น